ช่วงความพร้อม

               สัมผัสอันอ่อนไหวภายในที่แตกต่างของเด็ก  ทำให้เด็กสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตนเองได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมอันซับซ้อนที่อาศัยอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กมีความอ่อนไหวต่อสิ่งหนึ่ง แต่ก็อาจไม่รู้สึกกระทบกระเทือนจากอีกสิ่งหนึ่งเลย  เมื่อสัมผัสที่อ่อนไหวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษนี้เกิดขึ้นกับเด็ก ก็จะเหมือนกับแสงสว่างที่ส่องไปยังวัตถุใดวัตถุหนึ่ง แต่จะไม่ส่องไปยังวัตถุอื่นๆ ทำให้สิ่งๆนั้นเสมือนกลายเป็นโลกทั้งใบของเขา

               ช่วงความพร้อม จึงหมายถึงช่วงภาวะชั่วคราวที่เด็กกำลังมุ่งความสนใจและไวต่อการเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างง่ายดายเป็นพิเศษ

               มอนเตสซอรีได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงภาวะต่างๆเหล่านี้จากพัฒนาการของสัตว์ และเธอก็ได้ตระหนักว่าเธอเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในความสนใจของเด็กเช่นกัน

               “เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวเอง และเรียนรู้สิ่งต่างๆในช่วงนี้ ราวกับแสงที่ส่องสว่างอยู่จากภายใน หรือถ่านไฟฉายที่ให้พลังงาน” (The Secret of Childhood หน้า 40)

               เธอเป็นว่าในช่วงระยะนี้ เด็กสามารถเรียนรู้ในสิ่งเฉพาะ ในระดับที่ตั้งใจสูงสุด ได้อย่างง่ายดาย

               “ในช่วงระยะนี้ ทุกสิ่งอย่างจะง่ายดาย ทุกอย่างมีชีวิตชีวาและกระตือรือร้น ทุกๆ ความพยายาม จะเพิ่มพลังมากยิ่งขึ้น”

               ช่วงความพร้อมดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง นั่นหมายความว่า บางครั้ง ช่วงดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นขั้นตอน บางช่วงอาจเกิดก่อนหลังสลับกัน หรือต่อเนื่องกันก็ได้ รวมถึงช่วงที่เกี่ยวข้องกับวินัย การพัฒนาของระบบสัมผัสต่างๆ การรับรู้เกี่ยวกับภาษา การเดิน การเคลื่อนไหว การรับรู้เกี่ยวกับวัตถุขนาดเล็ก และการเข้าสังคม

               ครูในระบบมอนเตสซอรี่ จึงต้องตื่นตัวเสมอเกี่ยวกับช่วงระยะความพร้อมเหล่านี้ และจะต้องรู้จักสังเกตสิ่งเหล่านี้จากพฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก

               “หากเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมการพัฒนาด้านต่างๆตามช่วงเวลาดังกล่าวที่เกิดภาวะเหล่านี้ขึ้น โอกาสในการที่จะพิชิตสิ่งเหล่านี้ตามธรรมชาติของเขาจะสูญเสียไปโดยสิ้นเชิง”

               “หากภาวะใดภาวะหนึ่งมอดไป จะมีอีกภาวะหนึ่งที่ลุกโชน ช่วงวัยเด็กจึงเป็นช่วงที่จะผ่านไปด้วยการพิชิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดความสุข และความสนุกสนาน”

               “พัฒนาการทางจิตวิญญาณของเด็กมิได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเร้าภายนอก แต่เกิดขึ้นจากช่วงภาวะความพร้อมที่มีขึ้น ซึ่งก็คือ เกิดจากช่วงภาวะความพร้อมภายในของเด็กเองที่เด็กจะไวต่อสิ่งหนึ่งสิ่งไดเป็นพิเศษบวกกับการได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้านนั้นๆตามช่วงเวลาดังกล่าวด้วยนั่นเอง

               “ช่วงเวลาที่สำคัญและน่าพิศวงที่สุดคือช่วงที่เด็กมีภาวะที่ไวต่อการพัฒนาด้านระเบียบวินัยอย่างสูงสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงขวบปีแรกและต่อเนื่องไปจนถึงขวบปีที่สอง”

               “ความฉลาดหลักแหลมของมนุษย์ใช่ว่าไม่มีที่มา แต่มาจากการที่ได้รับการปูพื้นฐานเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงภาวะความพร้อมที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก”

               “ทฤษฎีดั้งเดิม มักจะวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้จากข้อมูลของกลไกระบบประสาทในร่างกาย แต่สำหรับช่วงภาวะความพร้อมนั้นจะแตกต่างออกไป เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและแรงกระตุ้น อันเป็นการปูพื้นฐานสำหรับความมีจิตสำนึก เป็นการเพิ่มขึ้นของพลังงานชั่วขณะเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญ”

               “เด็กจะเริ่มจากศูนย์ และพัฒนาขึ้นด้วยตัวของตัวเอง กระบวนการใช้เหตุและผลจะโตขึ้นตามธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่จะโตและแข็งแรงขึ้นจากสิ่งที่อยู่รอบข้าง”

               เด็กทุกคนจะมีการพัฒนาด้านภาษาขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ  และเด็กทุกคนจะเคยผ่านช่วงระยะเวลาที่จะสามารถออกเสียงได้แค่เป็นพยางค์ ๆ จากนั้นก็สามารถออกเสียงได้เป็นคำ และจนถึง สามารถพูดได้เป็นประโยค

               การที่เด็กจะสามารถเขียนหนังสือได้ มีความเกี่ยวเนื่องกับช่วงความพร้อมในการใช้ภาษา และจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กสามารถพูดได้แล้ว จนกระทั่งถึงเด็กอายุได้ 5 ขวบครึ่ง ถึง 6 ขวบก็จะหมดไป ดังนั้นความสามารถในการเขียนจะทำให้เกิดความสนุกสนานได้ในช่วงก่อนวัยดังกล่าวเท่านั้น